บ้านดินสอ เป็นเรือนสองชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง สไตล์โคโลเนียลทั้งหลัง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.ใด ไม่ทราบชัด หากดูจากหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖o๗ ออกเมื่อวันที่ ยี่สิบสอง เดือนสิงหาคม พระพุทธศักราช สองพันสี่ร้อยหกสิบห้า ให้ไว้แก่ พระยาวิเศษสงคราม ( ช้อย จันทรสนธิ ) ท่านผู้ครอบครองโฉนดบ้านและที่ดินหลังนี้เป็นท่านแรก เท่าที่เห็นจากหลักฐานนั้น บ้านหลังนี้ก็มีอายุล่วงถึงปัจจุบันได้ ๘๕ ปีแล้ว จากระยะเวลาดังกล่าวบ้านดินสอน่าจะสร้างในยุคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๕ ) และยังคงยืนยงมาจนทุกวันนี้
การอนุรักษ์อาคารโบราณ
เมื่อผู้ครอบครองปัจจุบัน ได้รับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน ณ วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๙ และเมื่อได้เริ่มสำรวจอาคารแล้ว พบว่า อาคารเก่าส่วนต่อเติมด้านหลัง ต้องทำการรื้อออกทั้งหมด เนื่องจากทรุดโทรมจนไม่สามารถรักษาได้อีก จึงทำฐานรากคอนกรีตใหม่ จากนั้นขึ้นโครงสร้างด้วยเหล็ก แล้วห่อหุ้มด้วยไม้ทั้งหมด เพื่อให้คงภาพความเป็นอาคารไม้ดังเดิมไว้ จากนั้นขึ้นเสา คาน โครงหลังคา ด้วยไม้ทั้งหมดแล้วจึงจัดแปลนเป็นห้องพัก ๔ ห้อง พร้อมห้องน้ำ
อาคารด้านหน้า ซึ่งประกอบด้วย มุขหน้า โถงกลาง ห้องพักด้านล่าง ๑ ห้อง, บันไดขี้นชั้นบนและห้องพัก ๔ ห้องด้านบน ยังอยู่ในสภาพดี จึงทำการบูรณะให้คงสภาพเดิม เก็บรักษาราวระเบียงไว้ เสริมตัวบันได ลูกตั้ง ลูกนอน ไม้พื้นสักขัดลอกทั้งหลัง แล้วลงน้ำยารักษาเนื้อไม้ เสาอาคารที่เปื่อยผุ ตัดต่อเสริมความแข็งแรง สายไฟรื้อทิ้งเดินใหม่ทั้งหลัง
|
|
เรือนไม้หลังนี้ เดิมเป็นเรือนยกพื้นสูง แต่เนื่องจากมีการสร้างถนนสูงกว่าตัวบ้าน ระดับใต้ถุน จึงต่ำกว่าระดับพื้นใหม่ และมีน้ำท่วมขังอยู่เสมอ จึงทำการเสริมฐานรากด้านล่างให้สูงขึ้นเทปรับระดับพื้นใหม่ จัดระบบบ่อพักน้ำ และระบบระบายน้ำใหม่ เทปรับระดับพื้น และแบ่งแปลนเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนครัว ซักล้าง และสโตร์ พื้นปูกระเบื้อง กับส่วนที่ 2 เป็นห้องพักผ่อน
การเลือกใช้วัสดุตกแต่ง ได้เลือกให้ใกล้เคียงวัสดุโบราณ
- กระเบื้องหลังคาเดิมที่ผุพังรื้อทิ้ง ใช้กระเบื้องว่าว สีน้ำเงินมารีน
- กระเบื้องลานทางเข้าและด้านหน้าบ้าน
- กลอนประตูทองเหลืองทั้งหมดยังเป็นกลอนโบราณของเดิม
- กระจกช่องแสง ที่หาไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน ได้เก็บรักษาของเดิมมาใช้
- ผนังไม้สักของเดิม เป็นไม้ฝาเข้าลิ้น ถากแต่งด้วยมือ สังเกตได้ที่แนวคลื่นของเครื่องมือช่าง ส่วนที่ยังมีคุณภาพดี ได้รักษาไว้ ส่วนที่ชำรุดแล้ว ทำการเสริมแต่งด้วยไม้ใหม่ให้ใกล้เคียงที่สุด
- โคมไฟบริเวณโถงต่าง ๆ ใช้โคมไฟสไตล์โบราณ ของตุรกี
+View Gallery |